โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล

  1. ที่ตั้ง ที่ทำการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ตั้งอยู่เลขที่ 204 ในเขตบ้านจูงนาง หมู่ที่ 8 ตำบลท่าทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หรือพิกัด 47 QPU 288557 แผนที่ระวาง 5042-IV อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (พิษณุโลก-นครสวรรค์) เป็นระยะทางประมาณ 8.000 กม. (อยู่ภายในบริเวณเขตรั้วเดียวกันกับสำนักชลประทานที่ 3 ซึ่งมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 342-1-30 ไร่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2516 สังกัดสำนักชลประทานที่ ๓พื้นที่โครงการ 273,000 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 211,476 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอพรหมพิราม,อำเภอเมือง,อำเภอบางระกำ,อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก และบางส่วนของอำเภอเมือง,อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
  2. ลักษณะทั่วไปของโครงการ โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม กรมชลประทานจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลเร่งปรับปรุงการชลประทาน โดยพัฒนาลุ่มน้ำสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกเป็นลำดับไป ลำดับแรก ได้แก่ทุ่งราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ กรมชลประทานได้พัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตามโครงการเจ้าพระยาใหญ่ด้วยการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาพร้อมระบบส่งน้ำเพื่อทดและส่งน้ำให้กับที่ราบลุ่มน้ำนี้ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ ลงมาจนจรดชายทะเล เพื่อให้สามารถทำการเกษตรกรรมได้ตลอดปี และได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เพื่อให้โครงการเจ้าพระยาใหญ่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กรมชลประทานจึงดำเนินการพัฒนาแควต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 สาย เป็นลำดับต่อไป เริ่มจาก การสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อเก็บกักน้ำจากแม่น้ำปิงซึ่งเป็นแควสายสำคัญที่สุดณอำเภอสามเงาจังหวัดตาก การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำกิ่วลม ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำวัง การสร้างฝายแม่ยม กั้นแม่น้ำยม ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ สำหรับแม่น้ำน่าน กรมชลประทานได้วางแผนที่จะพัฒนาการชลประทานทั้งลุ่มน้ำเพื่อให้การเกษตรกรรมได้ผลโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแม่น้ำน่านซึ่งมีต้นน้ำกำเนิดมาจากดอยภูแว ในทิวเขาหลวงพระบาง เป็นเขตพรมแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในท้องที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ยาวประมาณ 650 กิโลเมตร ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 33,130 ตารางกิโลเมตร ทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน มีความยาวตามลำน้ำประมาณ 270 กิโลเมตร กว้างประมาณ 20-30 กิโลเมตร มีพื้นที่มากกว่า 3 ล้านไร่ นับเป็นทุ่งราบผืนใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาลุ่มน้ำน่านขึ้น การพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 โครงการเขื่อนสิริกิติ์ กรมชลประทานได้ก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำน่านที่ตำบลผาซ่อม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นเขื่อนดินที่สูงที่สุดของประเทศสูงจากท้องน้ำ 113.6 เมตร สันเขื่อนกว้าง 12 เมตร ยาว 800 เมตร เริ่มก่อสร้างเมือ พ.ศ.2511 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2515 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,488 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้โอนเขื่อนนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับไปดำเนินการด้านบำรุงรักษาและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ประโยชน์สำคัญของเขื่อนสิริกิติ์ นอกจากจะผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ประมาณ 1,000 ล้านยูนิตต่อปีแล้ว ยังสามารถระบายน้ำลงมาเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งในเขตพื้นที่โครงการเจ้าพระยาทำให้ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,500,000 ไร่ และสามารถขยายพื้นที่ชลประทานในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ขึ้นใหม่อีกประมาณ 2,327,700 ไร่ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลก โดยการสร้างเขื่อนนเรศวร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำกั้นน้ำ แม่น้ำน่านที่บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนทดน้ำแห่งนี้อยู่ใต้เขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 176 กิโลเมตร พร้อมทั้งสร้างระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และบรรเทาอุทกภัย ระบบชลประทานในแปลงนา พร้อมอาคารประกอบต่าง ๆ เพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก 2 ฝั่ง แม่น้ำน่าน จำนวน 1,454,700 ไร่ ในบริเวณพื้นที่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ตอนบน ในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอวังทอง อำเภอบางระกำ และ อำเภอบางกระทุ่ม ในเขตจังหวัดพิจิตร ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสามง่าม อำเภอตะพานหิน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล และอำเภอบางมูลนาก ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอชุมแสง ระยะที่ 3 โครงการอุตรดิตถ์ จะก่อสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่านที่บ้านผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เหนือเขื่อนนเรศวรขึ้นไปประมาณ 128 กิโลเมตร พร้อมทั้งสร้างระบบส่งน้ำระบบระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัย เพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกบน 2 ฝั่ง ของแม่น้ำน่าน ประมาณ 873,000 ไร่ ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตรอน อำเภอพิชัย และบางส่วนของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมือง และอำเภอวังทอง ซึ่งกรมชลประทานจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไปภายหน้า โครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลก แบ่งการดำเนินการงานก่อสร้างออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นแรก ได้แก่ ก่อสร้างเขื่อนทดน้ำนเรศวร ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และพัฒนาแปลงไร่นา บนพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน จำนวนทั้งสิ้น 606,250 ไร่ และพื้นที่ฝั่งซ้ายตอนบนหรือที่เรียกว่าบริเวณทุ่งสานอีก 94,700 ไร่ ได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 และกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2528 ขั้นที่สอง ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำบนพื้นที่ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน ในเนื้อที่ ประมาณ 338,750 ไร่ และพื้นที่ฝั่งซ้ายตอนล่างอีกประมาณ 415,000 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 758,750 ไร่ โครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลก ตามขั้นตอนการก่อสร้างขั้นแรก (พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำน่าน) เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อย ได้แบ่งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา จำนวน 4 โครงการ คือ
  3. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร
  4. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล
  5. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี
  6. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว การบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล แบ่งพื้นที่การบริหารจัดการน้ำออกเป็น 3 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 211,476 ไร่ ได้แก่ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 บ้านหนองแขม ตำบลหนองแขม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่ชลประทาน 78,600 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองแขม ท่าช้าง มะตูม พรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม และตำบลไผ่ขอดอน (บางส่วน) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 บ้านจอมทอง ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่ชลประทาน 70,776 ไร่ ในพื้นที่ตำบลไผ่ขอดอน (บางส่วน) จอมทอง บ้านกร่าง พลายชุมพล บ้านคลอง วัดจันทร์ ท่าทอง ท่าโพธิ์ วัดพริก อำเภอเมือง และตำบลท่านางงาม บางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 บ้านหาดตะกู ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่ชลประทาน 62,100 ไร่ ในพื้นที่ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ ตำบลบ้านไร่ โคกสลุด สนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกำแพงดิน รังนก สามง่าม อำเภอสามง่าม ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร